เงินถูกดูดหายหมดบัญชี จริงๆแล้วเกิดอะไร? ยังไง?

Narun Chanyavilas
3 min readJan 15, 2023

ภาพจาก https://www.amarintv.com/news/detail/163652

ช่วงนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากที่ถูกดูดเงินไปหมดบัญชีธนาคารและเป็นข่าวดัง เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีการแชร์และข้อมูลที่ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง วันนี้เลยจะขอมาแชร์ว่าจริง ๆ แล้วมันมีการทำงานยังไงกันแน่ ทำไมเงินเราถึงหายไปได้ อันที่จริงมีเหตุการณ์ที่อาจเชื่อได้ว่าเป็นแก๊งที่เกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 แล้ว แบ่งออกมาได้เป็นทั้งหมด 3 ยุค มีการพัฒนาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน

ยุคที่ 1 ยุคเริ่มต้น

เริ่มจากการมีแก๊ง Call Center โทรมาให้เหยื่อทำการติดตั้งโปรแกรมจำพวก TeamViewer เป็นยุคแรกของการหลอกควบคุมเครื่องอย่างแท้จริง โจรจะเข้ามาทำการใช้วิธีทางจิตวิทยา (Social Engineer) เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัว และเปิดเผยข้อมูล จนโจรสามารถโอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าได้ในที่สุด

ภาพจาก https://cyber.rtaf.mi.th/publish/page.aspx?id=947

วิธีนี้ใช้ได้เพียงไม่นาน มีจุดอ่อนค่อนข้างเยอะ ลูกค้ามองเห็นหน้าจอว่าโจรทำอะไร สามารถหยุดการกระทำของโจรได้ และโปรแกรมประเภท TeamViewer ก็เป็นที่แพร่หลาย ทำให้หลอกคนได้ยาก

ยุคที่ 2 ยุคเติบโต

พัฒนาต่อมาเป็นยุคที่ 2 มีแอพเป็นของตนเอง โดยกระบวนการยังคล้ายเดิมอยู่ แต่ครั้งนี้จะเป็นแอพที่โจรพัฒนาขึ้นมาเอง รวมถึงปิดจุดอ่อนในยุคที่ 1 นอกจากนี้ตัวแอพมีลักษณะหน้าตาดูน่าเชื่อถือคล้ายแอพจริง มีหน้าตาหลายประเภทแล้วแต่ว่าในเวลานั้นกำลังหลอกเหยื่อด้วยเรื่องอะไร เช่น DSI แจ้งว่าเราทำผิดกฎหมาย, กรมสรรพากร แจ้งว่าเราเป็นหนี้ค้างชำระภาษี หรือ สายการบินชื่อดัง แจ้งว่าเราถูกรางวัลได้ตั๋วเครื่องบินฟรี

ภาพจาก https://www.facebook.com/phuketinfocenter/photos/a.109486044039914/620071462981367/

โดยหน้าตาของแอพทั้งหมดจะคล้ายกัน ต่างกันแค่ภาพและสีที่ใช้ประกอบให้หลงเชื่อเท่านั้น ลองดูดังตัวอย่างต่อไปนี้

ภาพจากแอพ Revenue (โจร)
ภาพจากแอพ DSI (โจร)
ภาพจากแอพ Lion Air (โจร)

มีข้อสังเกตได้แก่

  1. แอพจะมีการให้ตั้ง PIN ถึง 2 ครั้ง โดยข้อมูลนี้จะถูกโจรนำไปลองใช้ในการใส่เป็น PIN ขณะเข้าแอพธนาคารต่างๆ
  2. หาก PIN ที่พิมพ์ในแอพใช้งานไม่ได้ บางกรณีโจรจะถามลูกค้าตรง ๆ เช่น PIN ที่ใส่มาเป็นอันเดียวกับธนาคารหรือไม่ หากไม่ใช่ให้บอก PIN ธนาคาร เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีให้สำเร็จ
  3. ถ้ายังไม่ได้ PIN โจรอาจบอกให้ลูกค้าโอนเงินจำนวนเล็ก ๆ ระหว่างบัญชีของตนเอง ระหว่างนี้โจรจะสังเกตตัวเลขที่กระพริบเวลาเหยื่อกด PIN บนหน้าจอ หรือในบางครั้งก็อาศัยจังหวะหลังจากที่เหยื่อใส่ PIN แล้ว แต่ยังไม่ได้ปิดแอพธนาคาร ทำรายการโอนเงินต่อเลย
  4. หน้าจอสุดท้ายจะเป็นการ Permission 3 อย่าง
    - ขอทำตัวเป็นแอพสำหรับผู้พิการ (Accessibility Service) เพื่อให้ตัวแอพสามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ถึงแม้เราจะ kill app ทิ้งไปแล้วก็ตาม และ สามารถแตะหน้าจอในตำแหน่งใด ๆ แทนผู้ใช้งานได้
    -
    ขอทำการถ่ายทอดหน้าจอ (Screen Casting) เพื่อให้แอพสามารถคัดลอกหน้าจอแล้วส่งภาพวีดีโอของหน้าจอเราขึ้นไปยังระบบของโจร ดังนั้นโจรจะสามารถเห็นหน้าจอเราได้ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ที่หน้าไหนก็ตาม!
    - ขอเขียนภาพทับโปรแกรมอื่น (System Alert Screen Overlay) เพื่อให้แอพสามารถเขียนภาพใด ๆ ทับบนหน้าจอโทรศัพท์แบบเต็มจอ ผู้ใช้จะมองไม่เห็นว่าโจรกำลังทำอะไรอยู่บนเครื่องของตน และไม่สามารถแตะปุ่มเพื่อปิดเครื่องบนหน้าจอ หรือสลับแอพได้เลย
  5. หลังจากที่เหยื่อถูกข่มขู่และหลอกจนหลงเชื่อ เมื่อมีการให้ Permission ของผู้พิการไปแล้ว ตัวแอพจะแอบไปกด Allow การถ่ายทอดหน้าจอเองโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกแอบถ่ายทอดหน้าจอ
  6. หลังจาก Allow Permission ครบทั้ง 3 ข้อแล้ว หน้าจอโทรศัพท์จะถูกล๊อคทันที เพื่อให้โจรเข้ามาควบคุมและทำรายการกับแอพธนาคารได้โดยเหยื่อไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันโจรจะบอกเหยื่อให้วางโทรศัพท์นิ่ง ๆ ห้ามแตะต้อง
ตัวอย่างหน้าจอระหว่างกด Allow Permission ทั้ง 3 ข้อ จนกระทั่งถูกล๊อค
คนร้ายสามารถเห็นหน้าจอได้ตลอดเวลาแม้เราดับหน้าจอหรือออกแอพทั้งหมด
ระบบที่คาดว่าคนร้ายใช้ในการควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ

วิธีนี้ดีขึ้นกว่าวิธีในยุคแรกแต่ก็ยังมีจุดอ่อน ตัวโปรแกรมสามารถถูกตรวจเจอได้ง่าย ผู้ใช้ที่พอมีความรู้ก็สามารถลบหรือปิดสิทธิของโปรแกรมได้ นอกจากนี้โจรจะมีเวลาอยู่กับเหยื่อประมาณ 10–30 นาที ระหว่างนั้นโทรศัพท์จะใช้งานไม่ได้ วิธีนี้อาศัยความกลัวและความตื่นตระหนกของเหยื่อเป็นหลัก เพื่อให้เหยื่อทำตามขั้นตอนต่างๆ

ยุคที่ 3 ยุคเฟื่องฟู (ปัจจุบัน)

หลังจากแอพโจรพัฒนามา 2 ยุค ก็ได้มาถึงยุคปัจจุบันซึ่งแอพมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก และอาจยังมีเหยื่ออีกหลายรายที่ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นเหยื่อของแก๊งเหล่านี้

เรื่องราวของยุคปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยก่อน โจรเลิกใช้ความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกเพื่อหลอกล่อเหยื่อ แต่เปลี่ยนมาหลอกให้เหยื่อเต็มใจในการติดตั้งโปรแกรมแทน น่าจะเพราะว่าโอกาสที่เหยื่อจะไปขอความช่วยเหลือผู้อื่นมีน้อยกว่า นอกจากนั้นตัวโปรแกรมก็มีความสามารถในการซ่อนตัวเก่งมากขึ้นอีกด้วย

แอพใหม่ของโจรในครั้งนี้พัฒนาต่อยอดมาจากในยุคก่อนหน้า แต่ปลอมตัวเป็นโปรแกรมยอดนิยมทั่วไป เช่น โปรแกรมดูไลฟ์ โปรแกรมหาคู่ โปรแกรมดูภาพสยิว หรือโปรแกรมแชทยอดนิยมก็ตาม ถ้ายกตัวอย่างดัง ๆ และมีเหยื่อหลายรายคือ Snapchat และ Bumble

ตัวอย่างแอพที่ถูกนำมาปลอมตัวเป็นแอพโจร

ในครั้งนี้โจรอาจมาในคราบของแม่สาวน้อยที่พบกันตาม LINE แล้วหลอกคุยกับเหยื่อจนตายใจและชักชวนไปแลกเปลี่ยนรูปภาพหรือคลิปกันในแอพพิเศษ

แชทเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อเข้าไปติดตั้งแอพโจร

ลองดูตัวอย่างการคุยจริงได้ที่ https://www.facebook.com/DramaAdd/posts/pfbid02pkS6XK4JjAbmQ9iFFC711cmA16aM2AMRqEECykQScoCVo4ThhXYSbmTpoDRW72Xnl

แต่หลังทำการติดตั้งไปแล้ว ตัวแอพจะขอใช้สิทธิเป็นแอพสำหรับผู้พิการเช่นเดิม หากให้สิทธิแล้วจะแสดงเหมือนมีโฆษณามาให้เราดู แต่ความจริงกำลังซ่อนตัวเองทำให้หาไม่เจอ และแสดงข้อความอ้างว่า

Compatibility problem!APP wil be uninstall!
(เกิดปัญหาความไม่เข้ากัน! แอพจะลบตัวเอง!)
หน้าจอขณะทำการติดตั้งแอพโจร ยุค 3
หลังติดตั้งแอพโจรจะทำการขอ Accessibility Permission เช่นเคย

ในความเป็นจริงแอพได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว และเปิดช่องให้โจรสามารถเชื่อมต่อเข้ามาดูและควบคุมหน้าจอโทรศัพท์เราเมื่อใดก็ได้ หลังจากที่เหยื่อติดตั้งไปแล้ว โจรมักจะทิ้งให้เหยื่อตายใจและใช้เวลาสักพักหนึ่งในการสังเกตพฤติกรรม เช่น ใช้ธนาคารใดบ้าง มีเงินในบัญชีแต่ละธนาคารเท่าไร และจดจำรหัส PIN จากที่เหยื่อกดบนหน้าจอโทรศัพท์

โจรจะแอบดูหน้าจอเหยื่อตลอดเวลา ผ่านไป 2–3 สัปดาห์ จนเหยื่อลืม เมื่อสบโอกาสโจรจะทำการยกเลิกการล๊อคหน้าจอ อีกทั้งสามารถปิดแสงหน้าจอเพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัว แล้วเชื่อมต่อเข้ามาส่งคำสั่งที่โทรศัพท์ของเหยื่อ ทำการโอนเงินออกจากบัญชีไป เหลือเพียงโทรศัพท์เปล่า ๆ ให้เหยื่องงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

หนำซ้ำร้ายกว่านั้น แอพโจรตัวนี้หลังจากติดตั้งแล้ว ไม่สามารถลบออกได้ เมื่อเราพยายามลบแอพมันจะปิดหน้าจอ Setting ทิ้งทันที และถ้าเราพยายาม Factory Reset โทรศัพท์ แอพโจรก็จะถอยออกจากหน้านั้นเองโดยอัตโนมัติอีกด้วย!

ความพยายามในการลบแอพโจรที่ล้มเหลว ไม่สามารถกดเข้าไปถึงปุ่ม Uninstall ได้
แม้จะพยายาม Factory Reset ก็ทำไม่ได้

ถ้าลองดูเคสของผู้เสียหายในข่าวก็จะพบว่ามีโปรแกรมตัวเดียวกันนี้ติดตั้งอยู่และไม่สามารถปิดได้ https://www.facebook.com/sarmpok/posts/pfbid0CDycMBcFeTwidV5imZTmk8FStLRQtrpxDpj13JkwVc4zPHNVBi5ZczmCjP1e3x9Ml

เราจะแก้ไขได้อย่างไร

แอพโจรทั้ง 3 ยุคมีวิธีการทำงานคล้ายกัน แต่สำหรับยุคล่าสุดวิธีการตรวจสอบยังค่อนข้างทำได้ยาก เพราะ Android แต่ละรุ่นแตกต่างกันไป ผู้เขียนแนะนำให้ท่านลองเข้าไปในเมนูผู้พิการ หรือ Accessibility แล้วตรวจสอบในหมวด Downloaded apps ดูว่ามีรายการแอพใดแสดงขึ้นมาบ้างหรือไม่ ถ้ามีและเปิด On อยู่ โดยที่เราไม่รู้เหตุผล ควรรีบปิดหรือถอนการติดตั้ง

เมื่อพบว่ามีแอพที่มีการใช้งานโหมด Accessibility โดยไม่รู้เหตุผลควรรีบปิดหรือถอนการติดตั้ง

แต่หากท่านโชคร้ายกำลังเป็นเหยื่อของแอพโจรในยุคที่ 3 ซึ่งไม่สามารถปิดหรือถอนการติดตั้งได้ ผู้เขียนมีคำแนะนำมาให้ 2 ทาง ดังนี้

  1. หากท่านเป็นผู้ใช้งานปกติ ขอให้เปิด Airplane Mode โดยเร็วที่สุด เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับ Internet ได้ (รวมถึงถอดซิมและปิด Wifi หากจำเป็น) เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้โจรสามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ จากนั้นนำโทรศัพท์เข้าติดต่อกับศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่ครับ
  2. หากท่านเป็นนักพัฒนาหรือมีความรู้ทางเทคนิค อาจต่อสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ และเปิด Android Debug Mode จากนั้นใช้คำสั่งดังต่อไปนี้เพื่อถอนการติดตั้ง
# ทำการตรวจสอบรายชื่อ App ที่ติดตั้งบนเครื่องทั้งหมดด้วยคำสั่ง
adb shell pm list packages

#
เมื่อพบชื่อแอพโจร ให้ทำการลบออกด้วยคำสั่ง
adb uninstall <package name>

#
เช่น
adb uninstall com.mezwyh.owuftjkv

แล้ววิธีป้องกันล่ะ

แอพโจรทั้ง 3 ยุคมีวิธีป้องกันเดียวกันและง่ายมากครับ คือห้าม (เผลอ) ติดตั้งโปรแกรมที่ผู้อื่นส่งมาให้เด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว หากต้องการใช้งาน ขอให้ทำการเปิด Play Store ขึ้นมาด้วยตนเอง แล้วพิมพ์ชื่อแอพที่ต้องการลงไปค้นหา ยอมเสียเวลาเพิ่มสัก 1 นาที ดีกว่าเสียเงินหมดบัญชีนะครับ

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยจากแก๊งหลอกดูดเงินเหล่านี้ไปจนตลอดทุกยุคสมัยครับ … สาธุ

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ ทางเทคนิค

แอพโจรตัวใหม่นี้เป็นการประกอบร่างของโปรแกรมสำเร็จรูปหลายส่วน เช่น

  • ieasyclick โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการทำ click automation โดยปกติใช้สำหรับเขียนโปรแกรมให้โทรศัพท์ทำงานเองได้แทนการใช้มนุษย์
  • jiagu โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการซ่อนเนื้อหาการทำงานของโปรแกรมจริงๆ (packer) ทำให้การวิเคราะห์พฤติกรรมการทำงานของแอพโจรเป็นไปได้ยาก
ส่วนของหน้าจอภายในแอพโจร ยุคที่ 3

นอกจากนี้แอพโจรยังมีการสื่อสารออก Internet และมีการติดต่อไปยัง C&C อีกด้วย

หน้าจอที่คาดว่าเป็นระบบควบคุมการทำงานของโจร
ตัวอย่างการเชื่อมต่อออก Internet ของแอพโจรใน ยุคที่ 3

Sign up to discover human stories that deepen your understanding of the world.

Free

Distraction-free reading. No ads.

Organize your knowledge with lists and highlights.

Tell your story. Find your audience.

Membership

Read member-only stories

Support writers you read most

Earn money for your writing

Listen to audio narrations

Read offline with the Medium app

Narun Chanyavilas
Narun Chanyavilas

Written by Narun Chanyavilas

IT Security Researcher || CISSP OSCP CEH

Responses (13)

Write a response

ตามมาจากช่อง 9ARM ครับ บทความดีมากครับ เป็นความรู้ดี ๆ เอาไปเตือนญาติ ๆ ผู้ใหญ่ได้ ขอบคุณมากครับ

--

โอ้ว บทความดีมากครับ โจรอย่างแสบใช้ชื่อ app หลอก เป็นappหาคู่
เหยื่อเอาไปค้นยากเลย เพราะappหาคู่ มันมีscamเยอะอยู่แล้ว

--

มาจากช่องนายอาร์มครับ ย้าวยาว ดี้ดี

--